วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

(สัปดาห์ที่ 5)การวัดเเละประเมินผลที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

การวัดเเละประเมินผลที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
            การประเมินผลเป็นกระบวนการสำคัญที่มีส่วนเสริมสร้างความสำเร็จให้กับผู้เรียน และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดการเรียนการสอน การประเมินผลจำเป็นต้องมีลักษณะที่สอดคล้องกันแต่ในการจัดการศึกษาที่ผ่านมากลับมีเหตุการณ์ที่ทำให้ดูเหมือนการสอนกับการประเมินผลเป็นคนละส่วน แยกจากกัน การประเมินผลน่าจะเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ผู้สอนได้ข้อมูลที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน แต่กลับกลายเป็นเครื่องมือตัดสินหรือตีตราความโง่ความฉลาด สร้างความกดดันและเป็นทุกข์ให้กับผู้เรียน ความสำเร็จหรือล้มเหลวของการเรียนรู้ถูกตัดสินในครั้งสุดท้ายของกระบวนการเรียนการสอน โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลงานความสำเร็จหรือพัฒนาการที่มีขึ้นในระหว่างกระบวนการเรียนรู้ และนอกเหนือจากนั้น กระบวนการที่ใช้วัดและประเมินผลการเรียนรู้ในบางครั้งก็ไม่ได้กระทำอย่างสอดคล้องกับพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ต้องการวัดจริงเพราะผู้สอนมักจะเคยชินกับการใช้เครื่องมือวัดเพียงอย่างเดียว คือ การใช้แบบทดสอบ ซึ่งมีข้อจำกัดในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ทางด้านจิตพิสัยและทักษะพิสัยดังนั้น เมื่อมีการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญแล้วก็มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปกระบวนการวัดและประเมินผลใหม่ด้วยให้สอดคล้องกัน ซึ่งผู้รู้ในวงการศึกษาได้ยอมรับกันว่า แนวคิดในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่เหมาะสม คือ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามสภาพจริง

         1. การวัดและประเมินผลผู้เรียนตามสภาพจริง

                การวัดและประเมินผลเป็นส่วนสำคัญของการจัดการเรียนการสอน ดังนั้นเมื่อการจัดการเรียนการสอนตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2545 มุ่งให้ผู้เรียนแต่ละคนได้พัฒนาเต็มศักยภาพ การวัดและประเมินผลจึงต้องปรับเปลี่ยนไป ให้มีลักษณะเป็นการประเมินผลที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และประเมินผลตามสภาพจริงด้วยประเมินตามสภาพจริงของผู้เรียน มีลักษณะสำคัญดังนี้
                    1) เน้นการประเมินที่ดำเนินการไปพร้อม ๆ กับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งสามารถทำได้ตลอดเวลา ทุกสภาพการณ์
                     2) เน้นการประเมินที่ยึดพฤติกรรมการแสดงออกของผู้เรียนจริงๆ
                     3) เน้นการพัฒนาจุดเด่นของผู้เรียน
                     4) ใช้ข้อมูลที่หลากหลาย ด้วยเครื่องมือที่หลากหลายและสอดคล้องกับวิธีการประเมินตลอดจนจุดประสงค์ในการประเมิน
                     5) เน้นคุณภาพผลงานของผู้เรียนที่เกิดจากการบูรณาการความรู้ความสามารถหลาย ๆ ด้าน
                     6) การประเมินด้านความคิด เน้นความคิดเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์
                     7) เน้นให้ผู้เรียนประเมินตนเอง และการมีส่วนร่วมในการประเมินของผู้เรียนผู้ปกครองและผู้สอน

             2. วิธีการและเครื่องมือการวัดและประเมินผลที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

                        การวัดและประเมินผลตามสภาพจริง เป็นการประเมินการแสดงออกของผู้เรียนรอบด้านตลอดเวลา ใช้ข้อมูลและวิธีการหลากหลาย ด้วยวิธีการและเครื่องมือ ดังนี้
                            1) ศึกษาวัตถุประสงค์ของการประเมิน เป็นการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียนรอบด้าน  ดังนั้น จึงใช้วิธีการที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ เช่น การสังเกต สัมภาษณ์ การตรวจผลงานการทดสอบบันทึกจากผู้เกี่ยวข้อง การรายงานตนเองของผู้เรียน แฟ้มสะสมงานเป็นต้น
                            2) กำหนดเครื่องมือในการประเมิน เมื่อกำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน ให้เป็นการประเมินพัฒนาการของผู้เรียนรอบด้านตามสภาพจริงแล้ว ในการกำหนดเครื่องมือจึงเป็นเครื่องมือที่หลากหลาย เป็นต้นว่า
                                (1) การบันทึกข้อมูล จากการศึกษา ผลงาน โครงงาน หนังสือที่ผู้เรียนผลิต แบบบันทึกต่างๆ ได้แก่ แบบบันทึกความรู้สึก บันทึกความคิด บันทึกของผู้เกี่ยวข้อง (นักศึกษาเพื่อนอาจารย์ ผู้ปกครอง) หลักฐานร่องรอยหรือผลงานจากการร่วมกิจกรรม เป็นต้น
                                (2) แบบสังเกต เป็นการสังเกตพฤติกรรม การร่วมกิจกรรมในสถานการณ์ต่างๆ
                                (3) แบบสัมภาษณ์ เป็นการสัมภาษณ์ความรู้สึก ความคิดเห็นทั้งตัวผู้เรียน และผู้เกี่ยวข้อง
                                (4) แฟ้มสะสมงาน เป็นสื่อที่รวบรวมผลงานหรือตัวอย่างหรือ
หลักฐานที่แสดงถึงผลสัมฤทธิ์ ความสามารถ ความพยายาม หรือความถนัดของบุคคลหรือประเด็นสำคัญที่ต้องเก็บไว้อย่างเป็นระบบ
                                (5) แบบทดสอบ เป็นเครื่องมือวัดความรู้ ความเข้าใจที่ยังคงมี
ความสำคัญต่อการประเมินสำหรับผู้ประเมิน ประกอบด้วย ผู้เรียนประเมินตนเองผู้สอน เพื่อนกลุ่มเพื่อน ผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องกับนักศึกษา

                    3. การนำแนวคิดการประเมินผลผู้เรียนตามสภาพจริงไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน

                                การนำแนวคิดการประเมินผลผู้เรียนตามสภาพจริงไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน มีแนวปฏิบัติ ดังนี้
                             1) ก่อนนำไปใช้ ผู้สอนต้องเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางการประเมินตามสภาพจริง ที่สำคัญที่สุด คือ การศึกษาด้วยตนเองและลงมือปฏิบัติจริง พัฒนาความรู้จากการลงมือปฏิบัติ
                             2) การแนะนำให้ผู้เรียนจัดทำแฟ้มสะสมงาน แฟ้มสะสมงานของผู้เรียนนอกจากจะแสดงพัฒนาการของผู้เรียนแล้ว ยังเป็นการสะท้อนการสอนของผู้สอน เพื่อจะนำไปปรับปรุงการเรียนการสอนต่อไป
                                    2.1) หลักการเบื้องต้นของการจัดทำแฟ้มสะสมงาน มีดังนี้

                     (1) รวบรวมผลงานที่แสดงถึงพัฒนาการด้านต่างๆ

                     (2) รวบรวมผลงานที่แสดงลักษณะเฉพาะของผู้เรียน

                     (3) ดำเนินการควบคู่กับการเรียนการสอน

                     (4) เก็บหลักฐานที่เป็นตัวอย่างที่แสดงความสามารถในด้านกระบวนการและผลผลิต

                     (5) มุ่งเน้นในสิ่งที่ผู้เรียนเรียนรู้

                                   2.2) ความสำคัญของแฟ้มสะสมงาน คือ การรวบรวมข้อมูลของเรียน

ทำให้ผู้สอนได้ข้อมูลที่มีประโยชน์เกี่ยวกับพัฒนาการการเรียนรู้ของผู้เรียนรายบุคคล และนำเอาข้อมูลดังกล่าวมาใช้ปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อพัฒนาผู้เรียนแต่ละคนได้เต็มศักยภาพของตนเอง
ความสำคัญของการวัดและประเมินตามแนวปฏิรูปการศึกษา
              1.ช่วยให้ผู้สอนและผู้เรียนเข้าใจตรงกันในผลการเรียนรู้ที่เป็นมาตรฐานที่ต้องการให้
บังเกิดขึ้นจากการเรียนการสอนและจัดทำเป็นเกณฑ์สำหรับการตรวจสอบ
              2.ช่วยเพิ่มการเร่งเร้าเพียรพยายามร่วมกันระหว่างผู้สอนและผู้เรียนที่จะใช้กระบวนการ
เรียนรู้ที่หลากหลาย ใช้อุปกรณ์สื่อนวัตกรรมต่างๆ เพื่อมุ่งไปสู่การบรรลุผลการเรียนตามเกณฑ์ข้อ 1
              3.ช่วยให้มีการบันทึกพฤติกรรมของผู้เรียน ติดตามผลการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จนถึงการ
ใช้เครื่องมือและเทคนิคการวัดและการประเมินที่ผ่านการเลือกสรร และออกแบบอย่างดีให้สามารถวัดผลการเรียนรู้อย่างแม่นยำ เชื่อถือได้
              4.ช่วยให้เกิดการตัดสินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นรายบุคคลอย่างต่อเนื่องเทียบกับ
เกณฑ์ที่จัดทำไว้ล่วงหน้า ทำให้เกิดการบันทึกผลการเรียนรู้เป็นรายบุคคล ระบุผลการเรียนรู้ที่ผู้เรียนทำได้น่าพอใจผ่านเกณฑ์ ระบุผลการเรียนรู้ที่ยังบกพร่อง
              5.ช่วยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนรายบุคคลเป็นสำคัญ  โดยนำผลการเรียนรู้ที่บกพร่องมาวิเคราะห์ปัญหาสาเหตุ  ทำให้ผู้สอนช่วยคิดค้นเทคนิคกระบวนการเรียนรู้นำมาใช้แก้ไขข้อบกพร่องทางการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเหมาะสม  ช่วยทำให้ผู้เรียนรายบุคคลสามารถเรียนรู้ได้ครบถ้วนตามมาตรฐาน

          การวัดและประเมินตามสภาพจริง คือ กระบวนการวัดผลการเรียนรู้ตามแนวทาง 3 ประการ คือ

            1.  วัดครบถ้วนตามจุดประสงค์การเรียนรู้ได้จริง
               -วัดความสามารถทางความรู้ ความคิดได้จริง (Cognitive Ability)
               -วัดความสามารถในการปฏิบัติได้จริง (Performance/Practice Ability)
               -วัดคุณลักษณะทางจิตใจได้จริง (Affective Characteristics)

             2.  วัดได้ตรงความเป็นจริง คือ สิ่งที่วัดได้นั้นเป็นข้อมูล เป็นการแสดงพฤติกรรมที่สะท้อนความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียน  ทั้งความสามารถทางความรู้  ความคิด  ความสามารถในการปฏิบัติและคุณลักษณะทางจิตใจ  มีความคลาดเคลื่อนผิดพลาดน้อยที่สุด  ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ด้อยความสามารถได้คะแนนสูง  ตัดความผิดพลาดที่ผู้มีความสามารถสูงกลับได้คะแนนน้อย

             3.  เลือกสรรคิดค้นเครื่องมือและเทคนิคการวัดผลที่เป็นการวัดพฤติกรรมที่แท้จริงที่แสดงออกซึ่งความสามารถของผู้เรียน  (Ability to do)  ซึ่งอาจได้จากการสังเกตุพฤติกรรมผู้เรียน  สังเกตจากการปฏิบัติภาระงาน (Tasks) ที่จัดให้ปฏิบัติในสถานการณ์ที่ผู้สอนจะกำหนด สังเกตจากร่องรอยหลักฐานผลการปฏิบัติภาระงานของผู้เรียน เป็นต้น
ข้อควรคำนึง
การออกแบบการวัดและประเมินตามสภาพจริง ควรแปลความหมายของจุดประสงค์  การเรียนรู้ที่ต้องการจะวัดว่า “การเรียนมีคุณสมบัติตามจุดประสงค์นี้ครบถ้วนจริง เขาควรมีพฤติกรรมการแสดงออกอย่างไรที่ต่างจากพฤติกรรมของผู้ขาดคุณสมบัติตามจุดประสงค์นี้” การแปลจุดประสงค์การเรียนรู้ออกเป็นภาระงานที่ผู้เรียนจะต้องปฏิบัติในกิจกรรม  การเรียนการสอนแต่ละคาบ จะช่วยลดภาระการสร้างแบบวัดแบบประเมินของผู้สอนลงได้ เพราะผู้สอนเพียงแต่จัดระบบสังเกตพฤติกรรมการแสดงออกของผู้เรียน ตรวจสอบผลงานการฝึกปฏิบัติบันทึกลงระบบระเบียนก็จะช่วยการวัดการประเมินได้ การใช้วิธีกำหนดผู้เรียนเป็นกลุ่มเล็ก ให้หมุนเวียนกันทำหน้าที่ประสานงานกลุ่ม  ผสมผสานกับการกำหนดเกณฑ์การวัดการประเมินในแต่ละชิ้นงาน หรือภาระงานให้ชัดเจน  ผู้สอนจะสามารถให้มีการวัดและการประเมินกันเองในกลุ่มได้ โดยผู้สอนทำหน้าที่ติดตามประเมินการประเมินของผู้เรียนเป็นครั้งคราวจะช่วยทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนมากขึ้น

ตัวอย่างการวัดผลตามสภาพจริง

สิ่งที่จะวัด : ความรู้ความเข้าใจในกระบวนการขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ติดตา ต่อกิ่ง ตอน ฯลฯ
แนวการวัด

ระดับการวัดที่พอใช้ได้ : ให้ผู้เรียนเขียนหรือพูดยกตัวอย่างพืชในสถานการณ์จริง อธิบายขั้นตอนการปฏิบัติได้ถูกต้องครบถ้วน

ระดับที่ดี : ผู้เรียนสามารถปฏิบัติจริงในการนำพืชที่มีอยู่มาแสดงวิธีการขยายพันธุ์พืช เป็นขั้นตอนได้ครบถ้วน ถูกต้องและมีผลความสำเร็จในผลงานขั้นสุดท้ายที่ขยายพืชได้สำเร็จ

สิ่งที่จะวัด : ความสามารถในการประยุกต์วิธีการคำนวณ พื้นที่ ปริมาตร
แนวทางวัด : ระบุสถานการณ์จริง เช่น ห้องเรียนให้คำนวณพื้นที่ที่จะทาสีที่มีราคา

ต่างกันตามประเภทของสี ที่ขายเป็นแกลลอน สรุปเป็นจำนวนแกลลอนและราคาค่าใช้จ่าย ที่จะทาสีผนังและเพดาน

สิ่งที่จะวัด : ความสามารถในการใช้ภาษาอย่างสร้างสรรค์
แนวการวัด : กำหนดสถานการณ์จริง เช่น ให้เขียนบทความรณรงค์แก้ปัญหาของหมู่

บ้าน การเขียนจดหมายขอให้นักธุรกิจสนับสนุนกิจกรรมกีฬาของ

โรงเรียน การแสดงสำนวนโวหารในการโต้วาที ฯลฯ

สิ่งที่จะวัด : ความสามารถในทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์
แนวการวัด : จัดสถานการณ์ให้ดำเนินการทดลองในห้องปฏิบัติการ เน้นให้ใช้อุปกรณ์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ สังเกตและบันทึกข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล สรุปผลการทดลอง

                       หรือให้ทำโครงการวิทยาศาสตร์ครบวงจร ตั้งแต่การกำหนดวัตถุประสงค์ การจัดสิ่งที่จะต้องใช้ในการปฏิบัติ การตังสมมุติฐานการออกแบบตัวแปร การวัดตัวแปรการบันทึกข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การทดสอบสมมุติฐาน การสรุปผลเป็นองค์ความรู้

สิ่งที่จะวัด : ความสามารถในการจัดภาพและออกแบบสีน้ำได้เหมาะสม
แนวการวัด : ให้ผู้เรียนวาดภาพ กำหนดสถานการณ์จริง หรือจินตนาการ ใช้สีน้ำให้คะแนนตามหลักการจัดภาพและการใช้สีน้ำที่ดี

สิ่งที่จะวัด : ความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่
แนวการวัด : สังเกตและบันทึกพฤติกรรมความรับผิดชอบในแต่ละสัปดาห์ เช่น การเข้าเรียนตามเวลาสม่ำเสมอ การส่งแบบฝึกหัดครบถ้วนตามกำหนด ปฏิบัติงานกลุ่มที่ได้รับมอบหมาย จัดเวลาทำกิจกรรมของตนและควบคุมตนเองได้ครบถ้วน ฯลฯ

สรุปการวัดเเละประเมินผลที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

(สัปดาห์ที่ 7)โมเดล

โมเดลที่ 1 สภาพเเวดล้อมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ             สภาพแวดล้อมทางการเรียน (Learning Environment)  หมายถึง สภาวะใดๆ ที่ม...