1.วิธีสอนโดยการใช้นิรนัย(Deduction)
เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จัดขึ้นโดยให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎี หลักการ กฎ เเละข้อสรุปใรเรื่องที่เรียน เเล้วจึงยกตัวอย่างหลายๆตัวอย่างหรืออาจให้ผู้เรียนนำทฤษฎี หลักการ กฎ หรือข้อสรุปไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ที่หลากหลาย เพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง
วัตถุประสงค์
เป็นวิธีการที่มุ่งช่วยผู้เรียนเกิดการเรียนรู้หลักการและสามารถนำหลักการดังกล่าวไปใช้ได้
องค์ประกอบของวิธีสอนโดยการใช้นิรนัย
1. มีทฤษฎี/หลักการ/กฎ หรือข้อสรุปต่างๆ
2. มีตัวอย่างสถานการณ์ที่หลากหลาย ที่สามารถนำทฤษฎี/หลักการ/กฎ หรือข้อสรุปนั้นไปใช้ได้
3. มีการฝึกนำทฤษฎี/หลักการ/กฎ หรือข้อสรุปไปใช้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย
4. มีผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดขึ้นจากการนำหลักการไปใช้
ขั้นตอนของวิธีสอนแบบนิรนัย
1. ขั้นอธิบายปัญหาเป็นขั้นของการกำหนดปัญหาและกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจที่จะ
หาคำตอบในการแก้ปัญหา
2. ขั้นอธิบายกฎหรือหลักการเพื่อการแก้ปัญหา เป็นการนำเอาข้อสรุป กฎเกณฑ์ หลักการ
มาอธิบายให้นักเรียนได้เลือกใช้ในการแก้ปัญหา
3. ขั้นตัดสินใจ เป็นขั้นที่นักเรียนจะเลือกกฎ หรือหลักการ หรือข้อสรุปมาใช้ในการแก้ปัญหา
4. ขั้นพิสูจน์หรือตรวจสอบ เป็นขั้นการนำหลักฐานหรือเหตุผลมาพิสูจน์ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามหลักการนั้นๆ
5. ผู้สอนให้ผู้เรียนวิเคราะห์และอภิปรายการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น
6. ผู้สอนวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน
เทคนิคและข้อเสนอแนะต่างๆ ในการใช้วิธีสอนโดยการใช้นิรนัย
1.การเตรียมการ
ผู้สอนจำเป็นต้องทำความเข้าใจทฤษฎี/หลักการ/กฎ/ข้อความรู้/ข้อสรุป ที่ต้องการสอนให้แก่ผู้เรียน และหาวิธีที่เหมาะสมในการถ่ายทอด หรือนำเสนอเนื้อหาสาระเหล่านั้นแก่ผู้เรียน นอกจากนั้น ผู้สอนจำเป็นต้องเตรียมตัวอย่างที่ผู้เรียนสามารถนำเนื้อหาสาระเหล่านั้นไปใช้ให้เกิดผลสำเร็จ ตัวอย่างควรเป็นสถานการณ์ที่มีความหลากหลาย เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดความคิดรวบยอดและความเข้าใจที่ชัดเจน
2.การนำเสนอข้อความรู้/ทฤษฎี/หลักการ/กฎ/ข้อสรุปแก่ผู้เรียน
ผู้สอนจำเป็นต้องทำความเข้าใจในสิ่งที่สอนเป็นอย่างดี รวมทั้งหาวิธีการที่เหมาะสมในการนำเสนอเนื้อหาสาระเหล่านั้นให้แก่ผู้เรียน จนกระทั่งผู้เรียนเกิดความเข้าใจ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนมีความเข้าใจเพียงพอ ผู้สอนควรทดสอบความรู้ความเข้าใจของผู้เรียนก่อนให้ฝึกใช้ความรู้
3.การนำเสนอสถานการณ์ใหม่ให้ผู้เรียนฝึกใช้ความรู้
เมื่อเห็นว่าผู้เรียนเกิดความเข้าใจในทฤษฎี/หลักการ/กฎ/ข้อสรุปที่ให้พอสมควรแล้ว ผู้สอนควรให้ผู้เรียนฝึกการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่ๆ ซึ่งควรจะมีความหลากหลายพอสมควร เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น
ข้อดี
1. เป็นวิธีสอนที่ช่วยถ่ายทอดเนื้อหาสาระได้อย่างรวดเร็วและไม่ยุ่งยาก
2. เป็นวิธีสอนที่ผู้เรียนมีโอกาสมีโอกาสได้ฝึกฝนการนำทฤษฎี/หลักการไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ๆ
3. เป็นวิธีสอนที่อำนวยให้ผู้เรียนที่มีความสามารถหรือเรียนรู้ได้เร็วสามารถพัฒนา โดยไม่ต้องรอผู้เรียนที่กว่า
ข้อจำกัด
1. เป็นวิธีสอนที่ผู้สอนจำเป็นต้องเตรียมตัวอย่าง/สถานการณ์/ปัญหาที่หลากหลายมาให้ผู้เรียนได้ฝึกทำ
2. วิธีสอนที่ขึ้นกับความเข้าใจและความสามารถของผู้สอนในการนำเสนอทฤษฎี หลักการ
3. เป็นวิธีสอนที่ผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ช้า อาจจะตามไม่เพื่อน และเกิดปัญหาในการเรียนรู้
2.วิธีการสอนโดยการใช้อุปนัย(Induction)
เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จัดขึ้นโดยการนำตัวอย่าง ข้อมูล ความคิด เหตุการณ์ สถานการณ์ ปรากฏการณ์ ที่มีหลักการ เเนวคิด ที่ต้องการสอนให้แก่ผู้เรียน มาให้ผู้เรียนศึกษาวิเคราะห์ จนสามารถดึงหลักการ เเนวคิดที่แฝงอยู่ออกมาหรือเป็นการสอนรายละเอียดปลีกย่อยไปหากฎเกณฑ์ หรือสอนจากตัวอย่างไปหากฎเกณฑ์ นั่นคือ นักเรียนได้เรียนรู้ในรายละเอียดก่อนแล้วจึงสรุป
ตัวอย่างของวิธีสอนนี้ ได้แก่ การให้โอกาสนักเรียนในการศึกษาค้นคว้าสังเกต ทดลอง เปรียบเทียบแล้วพิจารณาค้นหาองค์ประกอบที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันจากตัวอย่างต่างๆ เพื่อนำมาเป็นข้อสรุป
ความมุ่งหมายของวิธีสอนแบบอุปนัย
1. เพื่อให้นักเรียนได้ค้นพบกฎเกณฑ์หรือความจริงที่สำคัญๆ ด้วยตนเอง โดยการทำความเข้าใจความหมาย แล้วจึงสร้างความสัมพันธ์ของความคิดต่างๆ ให้แจ่มแจ้งก่อนนำมาสรุปกฎเกณฑ์ ครูผู้สอนมีหน้าที่ในการกระตุ้นและให้แนวทางการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองของนักเรียน
2. เพื่อให้นักเรียนมีทักษะในการสรุปหลักเกณฑ์จากรายละเอียดอย่างมีระบบ
ขั้นตอนในการสอนแบบอุปนัย
1. ขั้นเตรียมนักเรียน เป็นการเตรียมความรู้และแนวทางในการปฏิบัติกิจกรรมของนักเรียน
ด้วยการทบทวนความรู้เดิม กำหนดจุดมุ่งหมาย และอธิบายความมุ่งหมายให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง
2. ขั้นเสนอตัวอย่างหรือกรณีศึกษาต่างๆ ให้นักเรียนพิจารณาเปรียบเทียบและสรุปกฎเกณฑ์การเสนอตัวอย่างควรเสนอหลายๆ ตัวอย่างให้มากพอที่จะสรุปกฎเกณฑ์ได้
3. ขั้นหาองค์ประกอบรวม คือ การให้นักเรียนมีโอกาสพิจารณาความคล้ายคลึงกันขององค์ประกอบจากตัวอย่างเพื่อเตรียมสรุปกฎเกณฑ์
4. ขั้นสรุปข้อสังเกตต่างๆ จากตัวอย่างเป็นกฎเกณฑ์ นิยาม หลักการ ด้วยตัวนักเรียนเอง
5. ขั้นนำข้อสรุปหรือกฎเกณฑ์ที่ได้จากการทดลองหรือสิ่งที่เข้าใจไปใช้ในสถานการณ์อื่น
ข้อดีของวิธีสอนแบบอุปนัย
1. นักเรียนสามารถสร้างความเข้าใจในรายละเอียด และหาข้อสรุปได้อย่างชัดเจนจดจำนาน
2. นักเรียนได้รับการฝึกทักษะการคิดตามหลักการ เหตุผล และหลักวิทยาศาสตร์
ข้อสังเกตของวิธีสอนแบบอุปนัย
1. ในการสอนแต่ละขั้น ครูควรให้โอกาสนักเรียนคิดอย่างอิสระ
2. ครูควรสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ที่ไม่เป็นทางการเพื่อลดความเครียดและเบื่อหน่าย
3. วิธีสอนแบบอุปนัยจะให้ผลสัมฤทธิ์สูงถ้าครูสร้างความเข้าใจทุกขั้นตอนอย่างดีก่อนสอน
3.วิธีการสอนโดยใช้การสาธิต (Demonstration)
วิธีสอนโดยใช้การสาธิต คือ กระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการแสดงหรือทำสิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ให้ผู้เรียนสังเกตดู แล้วให้ผู้เรียนซักถาม อภิปราย และสรุปการเรียนรู้ที่ได้จากการสังเกตการสาธิตวัตถุประสงค์
วิธีสอนโดยใช้การสาธิตเป็นวิธีการที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนทั้งชั้นได้เห็นการปฏิบัติจริงด้วยตาตนเอง ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องหรือการปฏิบัตินั้นชัดเจนขึ้น
องค์ประกอบสำคัญ (ที่ขาดไม่ได้) ของวิธีสอนโดยการใช้อุปนัย
- มีเรื่องหรือสิ่งที่จะสาธิต
- มีการแสดง/ การทำ / ให้ผู้เรียนสังเกตดู
- มีผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดจากการสาธิต
ขั้นตอนสำคัญ (ที่ขาดไม่ได้) ของการสอนโดยการใช้อุปนัย
1. ผู้สอนแสดงการสาธิต ผู้เรียนสังเกตการสาธิต
2. ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายและสรุปการเรียนรู้ที่ได้จากการสาธิต
เทคนิคต่าง ๆ ในการใช้วิธีสอนโดยใช้การสาธิต
1. การเตรียมการ
ผู้สอนจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวพอสมควร เพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างสะดวกและราบรื่น การเตรียม
ตัวที่สำคัญ คือ ผู้สอนควรมีการซ้อมการสาธิตก่อนเพื่อจะได้เห็นปัญหา และเตรียมแก้ไข/ป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ต่อไปจึงจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ และสถานที่ที่จะใช้ในการสาธิต และจัดวางไว้อย่างเหมาะสมสะดวกแก่การใช้ นอกจากนั้นควรจัดเตรียมแบบสังเกตการสาธิต และเตรียมคำถามหรือประเด็นที่จะให้ผู้เรียนได้ร่วมคิดและอภิปรายด้วย
2. ก่อนการสาธิต
ผู้สอนควรให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่สาธิตแก่ผู้เรียนอย่างเพียงพอที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจสิ่งที่
สาธิตได้ดี โดยอาจใช้วิธีบรรยาย หรือเตรียมเอกสารที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับลำดับขั้นตอนให้ผู้เรียน หรือใช้สื่อ เช่น วีดีทัศน์ หรือผู้สอนอาจมอบหมายให้ผู้เรียนไปศึกษาเนื้อหาสาระที่จะสาธิตมาล่วงหน้า และควรให้คำแนะนำแก่ผู้เรียนในการสังเกต หรือจัดทำแบบสังเกตการสาธิตให้ผู้เรียนใช้ในการสังเกต นอกจากนั้น ผู้สอนอาจใช้เทคนิคการมอบหมายให้ผู้เรียนรายบุคคลสังเกตเป็นพิเศษ
เฉพาะจุด เฉพาะประเด็น เพื่อช่วยให้ผู้เรียนตั้งใจสังเกต และมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง
3. การสาธิต
ผู้สอนอาจใช้วิธีการบรรยายประกอบการสาธิต การสาธิตควรเป็นไป อย่างมีลำดับขั้นตอน ใช้เวลาอย่าง
เหมาะสม ไม่เร็วเกินไป ขณะสาธิตอาจใช้แผนภูมิกระดานดำหรือแผ่นใสประกอบ และควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถาม หรือซักถามผู้เรียนเป็นระยะ ๆ เพื่อกระตุ้นความคิดและความสนใจของผู้เรียน และในบางกรณีอาจให้ผู้เรียนบางคนมาช่วยในการสาธิตด้วย
เทคนิคการสาธิตอีกเทคนิคหนึ่งคือ การใช้การสาธิตเงียบแทนการบรรยายประกอบการสาธิต และอาจมีการสาธิตซ้ำหากผู้เรียนยังไม่เกิดความเข้าใจชัดเจน นอกจากนั้นผู้สอนอาจให้ผู้เรียนเป็นฝ่ายแสดงการสาธิตด้วยก็ได้ ในกรณีที่การสาธิตมีสิ่งที่อาจเป็นอันตรายได้ ผู้สอนจะต้องสอนให้ผู้เรียนรู้และระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัย และควรเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไว้ด้วย
4. การอภิปรายสรุปการเรียนรู้
หลังจากการสาธิตแล้ว ผู้สอนควรให้ผู้เรียนรายงานสิ่งที่ได้สังเกตเห็นแลกเปลี่ยนกัน เปิดโอกาสให้ผู้
เรียนซักถาม ผู้สอนควรเตรียมคำถามไว้กระตุ้นให้ผู้เรียนคิดด้วย ผู้เรียนอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดที่แต่ละคนได้รับจากการสาธิตของผู้สอนและร่วมกันสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับ
ข้อดีวิธีการสอนโดยใช้การสาธิต
1.เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรง เห็นสิ่งที่เรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดความเข้าใจและจดจำในเรื่องที่สาธิตได้ดีและนาน
2.เป็นวิธีสอนที่ช่วยประหยัดเวลา อุปกรณ์และค่าใช้จ่าย หากใช้ทดแทนการทดลอง
3.เป็นวิธีที่สามารถสอนผู้เรียนได้จำนวนมาก
ข้อจำกัดข้อดีวิธีการสอนโดยใช้การสาธิต
1.เป็นวิธีที่ผู้เรียนอาจไม่สังเกตเห็นการสาธิตอย่างชัดเจน ทั่วถึง หากเป็นกลุ่มใหญ่
2.เป็นวิธีที่ผู้สอนเป็นผู้สาธิต จึงอาจไม่เห็นพฤติกรรมของผู้เรียน
3.เป็นวิธีที่ผู้เรียนอาจมีส่วนร่วมไม่ทั่วถึง และมากพอ
4.เป็นวิธีที่ผู้เรียนไม่ได้ลงมือทำเองจึงอาจไม่เกิดความรู้ที่ลึกซึ้งเพียงพอ
4.เทคนิคการใช้คำถาม
การใช้คำถามเป็นศาสตร์เเละศิลป์ คือ ต้องมีการศึกษาลักษณะของคำถามเเละครูต้องใช้ศิลปะในการถาม ดังนั้นครูจึงต้องมีการฝึกฝนการใช้คำถาม
การใช้คำถาม หมายถึง การใช้ประเภทของคำถามเป็นและรู้จักลักษณะการถามที่ดี การใช้ประเภทของคำถามทั้งคำถามง่ายและคำถามยาก หรือทั้งคำถามแคบและคำถามกว้าง หรือทั้งคำถามระดับต่ำและคำถามระดับสูง
การถามคำถามในห้องเรียน อาจมีความเป็นไปได้ดังนี้
1) ครูเป็นผู้ถามคำถามให้ผู้เรียนตอบ
2) ครูและนักเรียนร่วมกันถามคำถาม ร่วมกันอภิปราย
3) นักเรียนเป็นผู้ถามคำถาม
ลักษณะการถามคำถามที่ดีนั้นเป็นศิลปะในการถามคำถามที่ทำให้สามารถกระตุ้นการคิดของผู้เรียน กระตุ้นให้ผู้เรียนกล้าตอบสนองและกล้าถามย้อนกลับ
ความสำคัญของการใช้คำถาม
1. ใช้เป็นสื่อสำหรับสำรวจและทบทวนพื้นความรู้เดิมและประสบการณ์เดิมของนักเรียน คำตอบของนักเรียนจะเป็นสื่อนำไปสู่การเรียนการสอนบทเรียนใหม่และประสบการณ์ใหม่
2. ใช้กระตุ้นความสนใจของนักเรียน ครูอาจใช้คำถามเพื่อเร้าความสนใจของนักเรียนได้ทุกขั้นตอนในการเรียนการสอน เช่น การใช้คำถามเพื่อเริ่มต้นบทเรียน ถามให้นักเรียนสังเกต ให้ยกตัวอย่าง ใช้เป็นสิ่งเชื่อมโยงหรือเริ่มต้นการสนทนาระหว่างครูกับนักเรียน เพราะนักเรียนจะตอบคำถามของครูได้หากสนใจเรียนตลอดเวลา
3. ใช้เสริมสร้างความสามารถทางความคิดให้แก่นักเรียน ช่วยให้นักเรียนฝึกคิดหาคำตอบ หาเหตุผล และหาความรู้ได้ด้วยตนเอง
4. คำถามที่ดีจะช่วยให้มีการอภิปรายต่อเนื่อง เป็นการขยายความคิดและแนวทางในการเรียนรู้และข้อสรุปหลักเกณฑ์ใหม่ ๆ
5. การใช้คำถาม ช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน เช่น ทำให้นักเรียนมีโอกาสตอบคำถาม เสนอความคิดเห็นและตั้งคำถาม รวมทั้งได้ร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย
6. ช่วยให้นักเรียนพยายามค้นคว้าหาความรู้ใหม่เพิ่มเติมเพื่อที่จะนำมาตอบคำถามของครู
7. ใช้ช่วยทบทวนหรือสรุปบทเรียนให้เป็นที่เข้าใจตรงกัน
8. ใช้ช่วยประเมินผลการเรียนของนักเรียนและการสอนของครู
ประเภทของคำถาม
นักการศึกษาได้จำแนกประเภทของคำถามหลากหลายแบบ ขึ้นกับเกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนกประเภท ดังเช่น
ถ้าใช้ความง่ายความยากเป็นเกณฑ์ ก็สามารถจำแนกเป็นคำถามง่ายและคำถามยาก คำถามระดับต่ำและคำถามระดับสูง
ถ้าใช้ประเภทคำตอบของคำถามเป็นเกณฑ์ คือ คำตอบที่แน่นอนกับคำตอบที่ไม่ใช่คำตอบที่แน่นอน ก็สามารถจำแนกเป็นคำถามแคบและคำถามกว้าง
ถ้าใช้แนวคิดเบนจามิน บลูม กำหนดระดับขั้นการคิดในพุทธิพิสัย ก็แบ่งประเภทคำถามตามระดับขั้นของการใช้ความคิดในพุทธิพิสัย
การใช้แนวคิดการสืบสอบด้วยทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ก็แบ่งประเภทคำถามตามแนวการสืบสอบด้วยทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แต่ละทักษะ
ลักษณะการใช้คำถามที่ดี
นอกจากผู้สอนต้องรู้จักการใช้คำถามประเภทต่าง ๆ แล้วควรต้องรู้จักใช้ทั้งคำถามระดับต่ำหรือง่ายปนกับคำถามระดับสูง หรือคำถามยาก เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนคิดทั้งง่ายและยากขึ้น เป็นลำดับ เพื่อพัฒนาสู่การเป็นผู้มีความสามารถคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) เพื่อที่จะสามารถตัดสิน จะทำจะเชื่อ หรือแก้ปัญหาได้อย่างมีหลักการและถูกทาง นอกจากการฝึกใช้ประเภทคำถามแล้ว ยังต้องฝึกการถามในลักษณะดี หลีกเลี่ยงลักษณะไม่ดี ลักษณะการใช้คำถามที่ดี มีดังต่อไปนี้
1.เตรียมคำถามล่วงหน้า เพราะจะสามารถถามได้อย่างเรียงลำดับตามความง่ายยาก ตามลำดับเนื้อหา และช่วยให้มีความมั่นใจในการถาม
2.ถามอย่างมั่นใจโดยใช้ภาษาชัดเจน กะทัดรัด
3.ถามแล้วต้องมีเวลารอคอย ประมาณ 3 วินาที เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทั้งเก่งและไม่เก่งได้คิดอย่างทั่วถึง จากนั้นจึงเรียกชื่อผู้เรียนให้ตอบคำถาม ไม่กำหนดผู้ตอบก่อนถามคำถาม
4.ถามทีละคน และตอบทีละคน แต่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนตอบหลาย ๆ คน ในคำถามเดียวกัน
5.ถามแล้วไม่ทวนคำถาม และไม่ทวนคำตอบ
6.ควรใช้ท่าทาง เสียงประกอบการถามเพื่อกระตุ้นความสนใจ
7.ควรใช้คำถามปูพื้น เมื่อตอบคำถามแรกไม่ได้
8.ควรใช้คำถามง่ายและยากปนกันในการสอนครั้งหนึ่ง ๆ
9.ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนถามคำถามผู้สอน
4.เทคนิคการใช้ผังกราฟิก
เทคนิคการใช้ผังกราฟิก เป็นเทคนิคที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากการจัดโครงสร้างความคิดล่วงหน้าตามทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความหมาย (meaningful learning theory) ของเดวิด อูซูเบล (David P. Ausubel) นักจิตวิทยาอเมริกัน ที่เสนอการจัดโครงสร้างความคิด หรือโครงสร้าง ภาพรวมล่วงหน้า (presenting first) เพื่อใช้สำหรับอ่านและทำความเข้าใจเนื้อหาจากตำรา
ทฤษฎีของอูซูเบลเป็นทฤษฎีที่หาหลักการอธิบายการเรียนรู้ที่เน้นการเชื่อมโยงความรู้ที่ปรากฏในหนังสือที่โรงเรียนใช้กับความรู้เดิมที่อยู่ในสมองของผู้เรียนในโครงสร้างสติปัญญา(cognitive structure) หรือการสอนโดยวิธีการให้ข้อมูลข่าวสาร เขาเรียกทฤษฏีนี้ว่า “ทฤษฏีการเรียนรู้อย่างมีความหมาย( meaningful verbal learning)” โดยนิยามว่า “เป็นการเรียนที่ผู้เรียนได้รับมาจากการที่ผู้สอน อธิบายสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ให้ทราบและผู้เรียนรับฟังด้วยความเข้าใจ โดยผู้เรียนเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งที่เรียนรู้กับโครงสร้างภาพรวมที่ได้เก็บไว้ในความทรงจำ และจะสามารถนำมาใช้ในอนาคต”
อูซูเบลมองว่าในสมองของมนุษย์มีการจัดความรู้ต่างๆ ที่ได้เรียนรู้อย่างมีระบบ “โครงสร้างทางปัญญา” ซึ่งมีการจัดลำดับความสัมพันธ์เชื่อมโยงจากความคิดรวบยอด (concept) ที่กว้างและครอบคลุมลงมาจนถึงความคิดรวบยอดย่อยๆ ที่มีความเฉพาะเจาะจง ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงควรจะต้องเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมายที่ผู้เรียนสามารถนำการเรียนรู้ใหม่เข้าไปเชื่อมโยงกับความรู้เดิมหรือความคิดรวบยอดที่มีอยู่แล้ว โดยความรู้ใหม่ที่ได้เรียนรู้อย่างมีความหมายจะถูกเก็บไว้ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง อันเป็นผลจากการดูดซึมกับความรู้เดิมที่มีอยู่และจะช่วยขยายความรู้เดิมหรือมโนทัศน์เดิมที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ถ้าในการเรียนรู้สิ่งใหม่นั้นผู้เรียนมีพื้นฐานที่เชื่อมโยงเข้ากับความรู้เดิมได้ ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้สิ่งใหม่นั้นมีความหมาย ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้จากการรับข้อมูลข่าวสารหรือเกิดจากการค้นพบด้วยตนเอง และวิธีเรียนนั้นอาจจะเป็นการเรียนรู้อย่างเข้าใจและมีความหมาย หรือการเรียนรู้แบบท่องจำโดยไม่ใช้ความคิด
อูซูเบล แบ่งการเรียนรู้เป็น ๔ ประเภท คือ
-การเรียนรู้ด้วยการรับอย่างมีความหมาย (meaning reception learning)
-การเรียนรู้ด้วยการท่องจำโดยไม่ใช้ความคิด (rote reception learning)
-การเรียนรู้ด้วยการค้นพบอย่างมีความหมาย (meaningful discovery learning)
-การเรียนรู้ด้วยการค้นพบแบบท่องจำโดยไม่ใช้ความคิด (rote discovery learning)
อูซูเบลยังได้เสนอแนะเกี่ยวกับเทคนิค “การจัดการล่วงหน้า (advance organizer)” หรือก็คือการ “แนะนำรายวิชาก่อนเรียน” นั่นเอง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความหมายจากการสอนหรือบรรยายของครู โดยการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความรู้ที่มีมาก่อนกับข้อมูลใหม่ หรือความคิดรวบยอดใหม่ ที่จะต้องเรียน จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายที่ไม่ต้องท่องจำ หลักการทั่วไปที่นำมาใช้ คือ
1. การจัด เรียบเรียง ข้อมูลข่าวสารที่ต้องการให้เรียนรู้ ออกเป็นหมวด
2. นำเสนอกรอบ หลักการกว้างๆ ก่อนที่จะให้เรียนรู้ในเรื่องใหม่
3. แบ่งบทเรียนเป็นหัวข้อที่สำคัญ และบอกให้ทราบเกี่ยวกับหัวข้อสำคัญที่เป็นความคิดรวบยอดใหม่ที่จะต้องเรียน
อูซูเบลมองว่า การจัดการล่วงหน้านี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นวิธีการสร้างการเชื่อมช่องว่างระหว่างความรู้ที่ผู้เรียนได้รู้แล้ว (ความรู้เดิม) กับความรู้ใหม่ที่ได้รับ ผู้สอนควรจะใช้เทคนิค การจัดการล่วงหน้า ช่วยผู้เรียนในการเรียนรู้ทั้งประเภทการรับอย่างมีความหมายและการค้นพบอย่างมีความหมาย เนื่องด้วยทฤษฏีของเขาเน้นความสำคัญของการเรียนรู้อย่างมีความเข้าใจและมีความหมาย การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้เรียนรวมหรือเชื่อมโยง (subsume) สิ่งที่เรียนรู้ใหม่หรือข้อมูลใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นความคิดรวบยอด(concept) หรือความรู้ที่ได้รับใหม่ในโครงสร้างสติปัญญากับความรู้เดิมที่อยู่ในสมองของผู้เรียนอยู่แล้ว ทฤษฎีของอูซูเบลบางครั้งจึงเรียกว่า “ทฤษฏีเชื่อมโยงความรู้ (subsumption theory)”
ทฤษฏีของอูซูเบลถูกพัฒนาจนกลายเป็นสื่อทางการเรียนการสอนที่เรียกว่า “โครงสร้างภาพรวม (presenting first or structure overview)” ต่อมาได้รับความนิยมเรียกเป็น “ผังกราฟิก (graphic organizer)” หรือ GO ซึ่งได้รับความนิยมในการใช้เป็นเครื่องมือจัดการกิจกรรมการเรียนรู้ โจเซฟ โนวัค (Joseph Donald Novak) ได้พัฒนารูปแบบจนกลายเป็น “ผังความคิดรวบยอด (concept mapping)” ซึ่งทำให้การเรียนการสอนด้วยผังกราฟิกได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งในแวดวงการศึกษาในปัจจุบันผังกราฟิกจึงคือ เครื่องมือช่วยแสดงความคิดให้ออกมาเป็นรูปธรรมในลักษณะของภาพ โดยสื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันของเนื้อหาหรือข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งผังกราฟิกมีหลายรูปแบบ ผู้ใช้สามารถเลือกใช้หรือสร้างขึ้นเองได้ตามความสะดวกและเหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งในปัจจุบันก็มีผู้ที่มีชื่อเสียงขึ้นมาจากการสร้างผังกราฟิกขึ้นมาช่วยในการคิดในเรื่องต่างๆ เช่นโทนี บูซาน (Tony Buzan), โจเซฟ โนวัค (Joseph D. Novak) เป็นต้น
ผังกราฟิก เป็นเครื่องมือหรือแผนภาพที่ได้จากการนำข้อมูลดิบ หรือจากแหล่งต่างๆ มาทำการจัดกระทำข้อมูลและนำเสนอข้อมูล โดยอาศัยทักษะการคิดต่างๆ ในการจัดกระทำข้อมูล ได้แก่ การคิดวิเคราะห์ การสังเกต เปรียบเทียบ จัดเรียงลำดับ จัดประเภท และการใช้ตัวเลข เพื่อให้เกิดความจำ และความเข้าใจในเนื้อหา
ผังกราฟิกที่นิยมใช้โดยทั่วไปมีอยู่จำนวนมาก ในที่นี้ได้เสนอผังกราฟิกโดยแบ่งตามวัตถุประสงค์ของการนำเสนอข้อมูลดังนี้
1) ผังกราฟิกที่มีวัตถุประสงค์ของการนำเสนอข้อมูลที่เป็นมโนทัศน์ มีดังนี้
1.1) ผังความคิด เป็นผังกราฟิกที่แสดงความสัมพันธ์ของสาระ หรือความคิดต่างๆ ให้เห็นเป็นโครงสร้างในภาพรวม โดยใช้ตำแหน่ง ระยะห่างจากจุดศูนย์กลาง สี เครื่องหมาย รูปทรงเรขาคณิต และภาพแสดงความหมายและเชื่อมโยงของความคิดหรือสาระนั้นๆ
1.2) ผังมโนทัศน์ เป็นผังกราฟิกที่แสดงมโนทัศน์หรือความคิดรวบยอดใหญ่ไว้ตรงกลางและแสดงความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์และมโนทัศน์ย่อยๆ เป็นลำดับขั้น ด้วยเส้นเชื่อมโยง
2) ผังกราฟิกที่มีวัตถุประสงค์ของการนำเสนอข้อมูลที่เป็นการเปรียบเทียบ มีดังนี้
2.1) เวนน์ไดอะแกรม เป็นผังกราฟิกที่เป็นผังวงกลม 2 วง หรือมากกว่า ที่มีส่วนหนึ่งซ้อนกันอยู่ เป็นผังกราฟิกที่เหมาะสำหรับการนำเสนอสิ่ง 2 สิ่ง ซึ่งมีความเหมือนและความแตกต่าง
2.2) ทีชาร์ต เป็นผังกราฟิกที่แสดงความแตกต่างของสิ่งที่ศึกษา
2.3) แผนภูมิกง เป็นแผนผังกราฟิกที่แสดงการเปรียบเทียบข้อมูล โดยเป็นการแสดงสัดส่วนของข้อมูล
2.4) แผนภูมิแท่ง เป็นผังกราฟิกทีแสดงให้เห็นและเข้าใจความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ ได้ชัดเจน เป็นการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 2 ตัว โดยตัวแปรนั้นมีค่าไม่ต่อเนื่อง
2.5) ตารางเปรียบเทียบ เป็นผังกราฟิกที่เสนอข้อมูลในรูปแบบตารางช่วยให้เข้าใจได้ง่าย เพราะจัดข้อมูลไว้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งข้อมูลที่เสนอนั้นอาจเป็นการเปรียบเทียบความเหมือนกันหรือต่างกันของข้อมูล
3) ผังกราฟิกที่มีวัตถุประสงค์ของการนำเสนอข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผล มีดังนี้
3.1) ผังก้างปลา เป็นผังกราฟิกที่นำเสนอข้อมูลให้เป็นถึงสามเหตุและผลของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
3.2) ผังใยแมงมุม เป็นผังกราฟิกที่ใช้แสดงมโนทัศน์แบบหนึ่ง โดยแสดงความคิดรวบยอดใหญ่ไว้ตรงกลาง และเส้นที่แยกออกจากความคิดรวบยอดใหญ่จะแสดงรายละเอียดของความคิดนั้น
4) ผังกราฟิกที่มีวัตถุประสงค์ของการนำเสนอข้อมูลที่เป็นการเรียงลำดับเหตุการณ์ หรือ ขั้นตอนมีดังนี้
4.1) ผังเรียงลำดับ ใช้แสดงลำดับขั้นตอนของสิ่งต่างๆ หรือกระบวนการต่างๆ
4.2) ผังวัฎจักร เป็นผังกราฟิกที่แสดงลำดับขั้นตอนที่ต่อเนื่องกันเป็นวงกลม หรือเป็นวัฎจักรที่ไม่แสดงจุดสิ้นสุดหรือจุดเริ่มต้นที่แน่นอน
4.3) ผังเสนอปัญหาและการแก้ปัญหา เป็นการแสดงให้เห็นถึงการแยกแยะปัญหาและพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาและผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นหลากหลาย
เทคนิคการใช้ผังกราฟิกที่ใช้อย่างเเเพร่หลาย ดังนี้
1.ผังความคิด(A Mind Map)
Mind Map คือ การถ่ายทอดความคิด หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสมองลงกระดาษ โดยการใช้ภาพ สี เส้น และการโยงใย แทนการจดย่อแบบเดิมที่เป็นบรรทัด ๆ เรียงจากบนลงล่าง ขณะเดียวกันมันก็ช่วยเป็นสื่อนำข้อมูลจากภายนอก เช่น หนังสือ คำบรรยาย การประชุม ส่งเข้าสมองให้เก็บรักษาไว้ได้ดีกว่าเดิม ซ้ำยังช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ง่ายเข้า เนื่องจะเห็นเป็นภาพรวม และเปิดโอกาสให้สมองให้เชื่อมโยงต่อข้อมูลหรือความคิดต่าง ๆ เข้าหากันได้ง่ายกว่า “ใช้แสดงการเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งระหว่างความคิดหลัก ความคิด รอง และความคิดย่อยที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน”
ลักษณะการเขียนผังความคิด เทคนิคการคิดคือ นำประเด็นใหญ่ ๆ มาเป็นหลัก แล้วต่อด้วยประเด็นรอง
ขั้นตอนการสร้าง Mind Map
1. เขียน/วาดมโนทัศน์หลักตรงกึ่งกลางหน้ากระดาษ
2. เขียน/วาดมโนทัศน์รองที่สัมพันธ์กับมโนทัศน์หลักไปรอบ ๆ
3. เขียน/วาดมโนทัศน์ย่อยที่สัมพันธ์กับมโนทัศน์รองแตกออกไปเรื่อย ๆ
4. ใช้ภาพหรือสัญลักษณ์สื่อความหมายเป็นตัวแทนความคิดให้มากที่สุด
5. เขียนคำสำคัญ (Key word) บนเส้นและเส้นต้องเชื่อมโยงกัน
6. กรณีใช้สี ทั้งมโนทัศน์รองและย่อยควรเป็นสีเดียวกัน
7. คิดอย่างอิสระมากที่สุดขณะทำ
เขียนคำหลัก หรือข้อความสำคัญของเรื่องไว้กลาง โยงไปยังประเด็นรองรอบ ๆ ตามแต่ว่าจะมีกี่ประเด็น
กฏการสร้าง Mind Map
1. เริ่มด้วยภาพสีตรงกึ่งกลางหน้ากระดาษ
2. ใช้ภาพให้มากที่สุดใน Mind Map ของคุณ ตรงไหนที่ใช้ภาพได้ให้ใช้ก่อนคำ หรือรหัส เป็นการช่วยการทำงานของสมอง ดึงดูดสายตา และช่วยความจำ
3. ควรเขียนคำบรรจงตัวใหญ่ๆ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษให้ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ จะช่วยให้เราสามารถ ประหยัดเวลาได้ เมื่อย้อนกลับไปอ่านอีกครั้ง
4. เขียนคำเหนือเส้นใต้ แต่ละเส้นต้องเชื่อมต่อกับเส้นอื่นๆ เพื่อให้ Mind Map มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ
5. คำควรมีลักษณะเป็น "หน่วย" เปิดทางให้ Mind Map คล่องตัวและยืดหยุ่นได้มากขึ้น
6. ใช้สีทั่ว Mind Map เพราะสีช่วยยกระดับความคิด เพลินตา กระตุ้นสมองซีกขวา
7. เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ควรปล่อยให้สมองคิดมีอิสระมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
การนำไปใช้
1. ใช้ระดมพลังสมอง
2. ใช้นำเสนอข้อมูล
3. ใช้จัดระบบความคิดและช่วยความจำ
4. ใช้วิเคราะห์เนื้อหาหรืองานต่าง ๆ
5. ใช้สรุปหรือสร้างองค์ความรู้
ตัวอย่าง
2.ผังมโนทัศน์(A Concept map)
แผนผังมโนทัศน์ หมายถึง ความคิดความเข้าใจที่ได้รับมาจากการสังเกต หรือประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นำมาจัดประเภทของข้อมูลหรือเหตุการณ์ที่เหมือนหรือแตกต่างกันไว้ในกลุ่มหรือประเภทเดียวกันโดยอาศัยคุณลักษณะร่วมกัน เป็นเกณฑ์ องค์ประกอบของแผนผังมโนทัศน์มี 3 องค์ประกอบ คือ มโนทัศน์หลัก มโนทัศน์รอง มโนทัศน์ย่อย โดยเชื่อมโยงมโนทัศน์ที่มีความสัมพันธ์กันด้วยเส้น
รูปแบบของแผนผังมโนทัศน์
- แบบกระจายออก (Point grouping)
- แบบปลายเปิด (Opened grouping)
- แบบปลายปิด (Closed grouping)
- แบบเชื่อมโยงข้ามจุด (Linked grouping)
- แบบผสม (Mixed grouping)
กระบวนการ Concept Mapping ประกอบด้วยขั้นตอนย่อย ๆ 6 ขั้นตอน
1. Preparation Step - ขั้นของการเตรียมการ
เป็นขั้นตอนที่ผู้ริเริ่มมีความคิดใหม่ๆ หรือมีโครงการใหม่ๆ ที่ต้องการจะทำการวิเคราะห์ ผู้ริเริ่มนี้จะเป็นผู้รวบรวมสมาชิกภายในกลุ่ม (สอดคล้องกับ ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice - CoP) ของการจัดการความรู้ -KM) จะเป็นจำนวนเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับลักษณะปัญหาที่ต้องการจะแก้ไข จากนั้นจะทำตารางนัดหมายไว้คร่าว ๆ หลังจากนั้นจะทำการนัดหมายการประชุมครั้งแรก ขั้นตอนนี้จะเป็นการกล่าวถึงโครงการ หรือความต้องการของโครงการ วัตถุประสงค์คืออะไร ต้องการผลลัพธ์อะไรบ้าง และการทำงานร่วมกันทางความคิดจะเป็นอย่างไร
2. Generation Step ขั้นของการสร้างความคิด
คือการที่ทุกคนในกลุ่มเสนอความคิดเห็นของตนเองออกมา ข้อมูลที่ได้อาจจะมาจากตำรา งานวิจัย หรือแหล่งความรู้ (Sources of Knowledge) ที่หลากหลาย อาทิ ห้องสมุด อินเตอร์เน็ต หนังสือ วารสารวิชาการ ฐานข้อมูลความรู้ต่างๆ หรือบางครั้งอาจจะมาจากผู้เชี่ยวชาญ (Center of Excellence - CoE) ขั้นตอนนี้จะสนใจที่จำนวนของความคิด มากกว่า คุณภาพของความคิด ผู้นำการประชุม หรือ วิทยากรกระบวนการ (Facilitator) จะมีบทบาทที่สำคัญในช่วงเวลานี้เป็นอย่างมากที่จะกระตุ้นให้สมาชิกนำเสนอความคิดเห็น
3. Structure Step - ขั้นการจัดโครงสร้างความคิด
สมาชิกในกลุ่มจะช่วยกันจัดกลุ่มของความคิด (Ideas Grouping) รวมทั้งการจัดลำดับช่วงชั้นของความคิด (Basic Ordering Ideas - BOIs)
4. Representation Step - การวิเคราะห์แผนที่มโนทัศน์
เป็นขั้นตอนที่จะวิเคราะห์คุณภาพของความคิด วิเคราะห์ความสัมพันธ์ (Relationship) วิเคราะห์ประเด็นเชื่อมโยง หรือเกี่ยวข้อง รวมทั้งวิเคราะห์ส่วนขาด หรือสิ่งที่ตกหล่น ยังไม่มีใครมอง
5. Interpretation Step - การตีความและแปลความหมาย
เป็นขั้นตอนในการทำความเข้าใจ และแปลผลของแผนที่มโนทัศน์ เป็นขั้นตอนที่จะต้องนำแผนที่มโนทัศน์ออกมาสื่อสารให้เป็นที่เข้าใจได้โดยง่าย ไม่สำคัญว่าเขียนมันออกมาได้ แต่สำคัญว่า เขียนแล้ว ชาวบ้านอ่านเข้าใจด้วย ซึ่งตัวชาวบ้านเองก็จะต้องฝึกอ่าน แผนที่มโนทัศน์ให้เป็นด้วย
6. Utilization Step การนำไปใช้ประโยชน์ เช่น การนำไปใช้เป็น Strategic Map หรือการนำไปใช้เป็นกรอบแนวคิด (Conceptual framework) ในการดำเนินงานวิจัย หรือวิเคราะห์เพื่อ แก้ปัญหาขององค์กรหรือหน่วยงาน
ข้อดีของการใช้แผนผังมโนทัศน์
ทำให้สามารถเห็นภาพความคิดรวบยอด ในรูปแบบที่จับต้องได้ ทำให้สามารถให้ความสำคัญได้ง่ายดาย จึงสะดวกในการนำไปทบทวนทุกครั้งที่ต้องการ นอกจากนี้ในการรวบรวมความคิดรวบยอดต้องใช้ความเข้าใจที่ชัดเจนและแม่นยำทั้งในเรื่องความหมาย และความเชื่อมโยงของความคิดรวบยอดจึงทำให้การเรียนรู้ กลายเป็นกระบวนการที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ทั้งนี้ในการนำเสนอความคิดรวบยอดให้แก่นักเรียน ครูไม่ควรให้นักเรียนจำ Concept Mapping ที่เตรียมไว้แล้ว เพราะนั่นก็เป็นเพียงแค่การเรียนแบบท่องจำอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ที่ไม่ช่วยให้เกิดการกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีความหมายและยั่งยืน
ข้อจำกัดของการใช้แผนผังมโนทัศน์
1.ผู้สอนต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจรูปแบบ และประโยชน์ของมโนทัศน์ แบบต่างๆ จึงจะสามารถสอนหรือ แนะนำผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี
2.ผู้เรียนอาจเกิดความเบื่อหน่าย หรือไม่มีความอดทนต่อบางมโนทัศน์ที่ไม่กระจ่างชัดเจน
หลักการในการเขียนแผนผังมโนทัศน์
1. เขียนตัวหนังสือเป็นแบบตัวพิมพ์ใหญ่ กรณีภาษาอังกฤษ หรือ ตัวหนาและเน้นคำกรณีเป็นภาษาไทย สำหรับประเด็นความคิด (Node)
2. ใช้กระดาษแบบไม่มีเส้น (Unlined paper) เพื่อไม่ให้เส้นที่อยู่บนกระดาษมาขีดกรอบความคิด หากเลี่ยงไม่ได้ ก็ให้เส้นบรรทัดอยู่ในแนวตั้ง (Vertical)
3. ใช้กระดาษเปล่าที่ไม่มีการเขียนอะไรมาก่อน
4. เชื่อมคำที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กันด้วยเส้น (Link line) หากมีความคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นก็แตกเส้นเชื่อมออกไปด้านข้างดังในภาพข้างบน
5. เขียนต่อเนื่องไปอย่างรวดเร็วไม่ต้องหยุด ส่งผ่านความคิดให้เกิดความลื่นไหลไปเรื่อยๆ ไม่ต้องหยุดว่าความคิดควรจะอยู่ตรงไหน เขียนลงไปก่อน (เราสามารถเคลื่อนย้ายหรือลากเส้นความสัมพันธ์ได้ทีหลัง)
6. เขียนทุกอย่างลงไปโดยไม่ต้องตีความหรือพยายามหาคำอธิบายใดๆ เพราะกระบวนการจะหยุดชะงักในการคิด
7. หากถึงทางดันของการคิดก็ลองมองไปรวมๆ ทั้งภาพแผนที่มโนทัศน์เพื่อดูว่ายังมีส่วนใดตกค้างหรือหลงเหลือที่ยังไม่ได้เขียนลงไปหรือไม่
8. บางครั้งอาจมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สี หรือรูปทรง (shape) เพื่อแยกแยะหรือจัดหมวดหมู่ความคิด
สิ่งที่ควรจะปรากฎในแผนผังมโนทัศน์
1. มีการแตกแขนงความคิด (Branches)
2. ลูกศรแสดงความสัมพันธ์ระหว่างแขนงความคิด (Node) Arrow Direction
3. การจัดกลุ่มของความคิด (Grouping ideas) โดยอาจจะขีดเส้นล้อมกรอบกลุ่มความคิด
4. รายละเอียดในรูปแบบของรายการ (List) เพื่อแสดงประกอบแต่ละความคิด (Node List)
5. บางครั้งอาจจะมีคำอธิบายประกอบแขนงความคิด (Node / Branches Note)
ตัวอย่างแผนผังมโนทัศน์
3.ผังเเมงมุม(A Spider Map)
ตัวอย่าง
แผนผังก้างปลาหรือเรียกเป็นทางการว่า แผนผังสาเหตุและผล (Cause and Effect Diagram)
แผนผังสาเหตุและผลเป็นแผนผังที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัญหา (Problem) กับสาเหตุทั้งหมดที่เป็นไปได้ที่อาจก่อให้เกิดปัญหานั้น (Possible Cause) เราอาจคุ้นเคยกับแผนผังสาเหตุและผล ในชื่อของ "ผังก้างปลา (Fish Bone Diagram) " เนื่องจากหน้าตาแผนภูมิมีลักษณะคล้ายปลาที่เหลือแต่ก้าง หรือหลายๆ คนอาจรู้ จักในชื่อของแผนผังอิชิกาว่า (Ishikawa Diagram) ซึ่งได้รับการพัฒนาครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1943 โดย ศาสตราจารย์คาโอรุ อิชิกาว่า แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว
การใช้แผนผังสาเหตุและผลหรือผังก้างปลา
1. เมื่อต้องการค้นหาสาเหตุแห่งปัญหา
2. เมื่อต้องการทำการศึกษา ทำความเข้าใจ หรือทำความรู้จักกับกระบวนการอื่น ๆ เพราะว่าโดยส่วนใหญ่พนักงานจะรู้ปัญหาเฉพาะในพื้นที่ของตนเท่านั้น แต่เมื่อมีการ ทำผังก้างปลาแล้ว จะทำให้เราสามารถรู้กระบวนการของแผนกอื่นได้ง่ายขึ้น
3. เมื่อต้องการให้เป็นแนวทางในการระดมสมอง ซึ่งจะช่วยให้ทุกๆ คนให้ความสนใจในปัญหาของกลุ่มซึ่งแสดงไว้ที่หัวปลา
วิธีการสร้างแผนผังสาเหตุและผลหรือผังก้างปลา
สิ่งสำคัญในการสร้างแผนผัง คือ ต้องทำเป็นทีม เป็นกลุ่ม โดยใช้ขั้นตอน 6 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. กำหนดประโยคปัญหาที่หัวปลา
2. กำหนดกลุ่มปัจจัยที่จะทำให้เกิดปัญหานั้นๆ
3. ระดมสมองเพื่อหาสาเหตุในแต่ละปัจจัย
4. หาสาเหตุหลักของปัญหา
5. จัดลำดับความสำคัญของสาเหตุ
6. ใช้แนวทางการปรับปรุงที่จำเป็น
ส่วนประกอบของผังก้างปลา
1. ส่วนปัญหาหรือผลลัพธ์ (Problem or Effect) ซึ่งจะแสดงอยู่ที่หัวปลา
2. ส่วนสาเหตุ (Causes) จะสามารถแยกย่อยออกได้อีกเป็น
o ปัจจัย (Factors) ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหา (หัวปลา)
o สาเหตุหลัก
o สาเหตุย่อย
ซึ่งสาเหตุของปัญหา จะเขียนไว้ในก้างปลาแต่ละก้าง ก้างย่อยเป็นสาเหตุของก้างรองและก้างรองเป็นสาเหตุของก้างหลัก เป็นต้น
ตัวอย่างผังก้างปลา
1.KWL
เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนมีทักษะกระบวนการอ่าน ซึ่งสอดคล้องกับทักษะการคิดอย่างรู้ตังว่าตนคิดอะไร มีวิธีคิดอย่างไร สามารถตรวจสอบความคิดของตนเองได้ และสามารถปรับเปลี่ยนกลวิธีการคิดของตนเองได้ โดยผู้เรียนจะได้รับการฝึกให้ตระหนักในกระบวนการทำความเข้าใจตนเอง มีการวางแผน ตั้งจุดมุ่งหมาย ตรวจสอบความเข้าใจของตน มีการจัดระบบข้อมูลเพื่อการดึงมาใช้ภายหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
การจัดการเรียนรู้แบบ KWL มีขั้นตอนสำคัญ ดังต่อไปนี้
1. ขั้น K ( Know)
เป็นขั้นของการเตรียมความรู้พื้นฐานก่อนอ่าน ผู้สอนอาจให้ผู้เรียนแต่ละคนเขียนสิ่งที่ตนรู้ เกี่ยวกับหัวข้อที่ผู้สอนจะให้ผู้เรียนเรียนรู้ เป็นแผนผังความคิดด้วยตนเอง
2. ขั้น W (Want to know)
2.1 การตั้งจุดมุ่งหมายในการอ่านหลังจากที่ผู้สอนกระตุ้นความรู้เดิมของผู้เรียนในขั้น K แล้วผู้สอนจะนำผู้เรียนไปสู่ขั้นการตั้งจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ โดยการอ่านซึ่งผู้สอนจะใช้คำถามกระตุ้นผู้เรียน
2.2 ผู้เรียนเขียนคำถาม ผู้สอนให้ผู้เรียนเขียนคำถามที่ตนมีลงในกระดาษให้มากที่สุด
2.3 ผู้เรียนหาคำตอบ ผู้สอนให้ผู้เรียนอ่านข้อความที่ผู้สอนเตรียมไว้ โดยกระตุ้นให้ผู้เรียนพยายามหาคำตอบในสิ่งที่ตนตั้งคำถามไว้แล้วนั้น ในขั้นนี้ผู้สอนอาจดัดแปลงจากการอ่าน เป็นการใช้วิธีบรรยายหรือดูวีดิทัศน์ก็ได้ และจะเป็นการเน้นทักษะการฟังแทนการอ่าน
3. ขั้น L ( Learned)
หลังจากที่ผู้เรียนอ่านข้อความแล้ว ให้ผู้เรียนเขียนคำตอบที่ได้ลงในกระดาษเปล่า รวมทั้งเขียนข้อมูลอื่น ๆ ที่ศึกษาเพิ่มเติมได้ แต่ไม่ได้ตั้งคำถามไว้การบันทึกข้อมูลตามกิจกรรมในขั้น K W และ L นั้นผู้สอนควรให้ผู้เรียนบันทึกโดยใช้ตาราง 3 ช่องดังตัวอย่าง
4. ขั้นการเขียนสรุปและนำเสนอ
กิจกรรมในขั้นนี้เป็นกิจกรรมเพิ่มเติมในขั้นตอนหลัก KWL หลังจากผู้เรียน ได้เรียนรู้และเขียนข้อมูลความรู้ที่ได้ในขั้น W และ L แล้ว ให้นักเรียนนำข้อมูลที่ได้มาปรับแผนผังความคิดเดิมที่ผู้เรียนเขียนไว้ในขั้น K ซึ่งอาจจะมีการตัดทอนเพิ่มเติม หรือจัดระบบข้อมูลใหม่ เพื่อให้ผังความคิดมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น หรืออาจมีกิจกรรมอื่น ที่ผู้สอนเห็นว่าเป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น มีการอภิปรายถึงเหตุและผลกระทบในเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือให้ผู้เรียนนำเสนอแผนผังความคิด เป็นต้น
2.KWL plus
ค.ศ. 1986 Donna M. Ogle แห่ง National College of Education at Evanston,Illinois (1986: 626-631)อ้างถึงในสุพรรณีสุทธรินทร์(2547: 20) ได้พัฒนาการสอนแบบ KWL Know-Want-Learn (What do I know?, What do I want to learn?, What did I learn?) เพื่อใช้ในการสอนอ่านแบบโครงสร้างความเรียงโดยจัดการสอนที่เน้นกิจกรรมการอ่านที่เชื่อมโยงกับทฤษฎีโครงสร้างประสบการณ์เดิมบนพื้นฐานความเชื่อที่ว่านักเรียนได้เรียนรู้อะไรมาบ้างแล้วก่อนการอ่าน (What do I know?) ด้วยวิธีการวิเคราะห์หัวเรื่องและทำนายเหตุการณ์ของเรื่องก่อนที่จะอ่านโดยให้นักเรียนระดมกำลังสมอง (Brainstorming) ช่วยกันคิดว่านักเรียนต้องการรู้อะไร (What do I want to learn?) ตั้งคำถามตอบคำถามระหว่างการอ่านและถามตัวเองว่านักเรียนเกิดการเรียนรู้อะไร (What did I learn?) หลังการอ่านซึ่งเป็นวิธีการสอนที่จะช่วยให้ครูค้นหาพื้นฐานความรู้ของนักเรียนที่มีต่อเรื่องที่จะอ่านและโดยสร้างแผนภาพตาราง KWL เพื่อบันทึกรายการข้อมูลความรู้ข้อคำถามลงในแต่ละช่องโดยให้นักเรียนเขียนสิ่งที่นักเรียนต้องการรู้ลงในช่อง W- What we want to know และผลการเรียนรู้ของนักเรียนในช่อง L-What we have learned หลังจากที่นักเรียนอ่านจบ
ต่อมาในปีค.ศ. 1987 Eileen Carr แห่งมหาวิทยาลัย Eastern Michigan University และ Donna M. Ogle ได้พัฒนาการสอนอ่านแบบ KWL Plus ขึ้นด้วยการเพิ่มการทำแผนภูมิบทอ่าน (Mapping Text) และการสรุปข้อความ (Summarizing Information) ซึ่งในส่วนที่เพิ่มนี้เป็นสิ่งที่ช่วยนักเรียนพัฒนาทักษะการถ่ายโอนการเรียนรู้ได้มากขึ้น
ความหมายของการจัดการเรียนรู้แบบ KWL Plus
Carr and Ogle (1987 : 626 - 631) ให้ความหมายของการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWL Plus ไว้ดังนี้
K (What do I know?) เป็นขั้นตอนที่นักเรียนตรวจสอบหัวข้อเรื่องว่าตนเองมีความรู้เกี่ยวกับหัวข้อเรื่องมากน้อยเพียงใด เป็นการนำความรู้เดิมมาใช้เพราะการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้พื้นฐาน และประสบการณ์ของผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญในการจัดกิจกรรมก่อนการอ่าน ซึ่งเป็นการเตรียมนักเรียนในการเรียนรู้เนื้อหาใหม่ การบูรณาการระหว่างความรู้พื้นฐานและเรื่องที่นักเรียนจะอ่านช่วยให้นักเรียนสามารถสร้างความหมายของบทอ่านได้ดีและผู้อ่านควรได้รับการกระตุ้นความรู้พื้นฐานให้เหมาะสม ดังนั้นในขั้นตอนนี้ทฤษฎีประสบการณ์เดิมซึ่งเป็นทฤษฎีว่าด้วยหลักการนำความรู้พื้นฐาน ความรู้เดิมและประสบการณ์เดิมมาใช้ในการเรียนการสอน จึงเป็นทฤษฎีที่เกี่ยวข้องและมีความสำคัญมาก
W (What do I want to learn?) เป็นขั้นตอนที่นักเรียนจะต้องถามตนเองว่าต้องการรู้อะไรในเนื้อเรื่องที่จะอ่านบ้าง ซึ่งคำถามที่นักเรียนสร้างขึ้นก่อนการอ่านนี้ เป็นการตั้งเป้าหมายในการอ่านและเป็นการคาดหวังว่าจะพบอะไรในบทอ่านบ้าง
L1 (What did I learn?) เป็นขั้นตอนที่นักเรียนสำรวจว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรบ้างจากบทอ่าน โดยนักเรียนจะหาคำตอบให้กับคำถามที่ตนเองตั้งไว้ในขั้นตอน W และจดบันทึกสิ่งที่ตนเองเรียนรู้ พร้อมกับสำรวจข้อคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ เพื่อค้นหาคำตอบต่อไป
L2 (Mapping) เป็นขั้นตอนที่นักเรียนนำความรู้ที่ได้จากขั้นตอน K มาจัดกลุ่ม โดยเขียนความคิดหลักไว้ตรงกลาง แล้วแตกสาขาความคิดรอง ความคิดย่อยเพื่ออธิบายเพิ่มเติม
L3 (Summarizing) เป็นขั้นตอนที่นักเรียนสรุปเรื่องราวจากแผนผังความคิดอีกครั้งหนึ่ง
เกียรติชัย ยานะรังษี (2540: 39) กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิค KWL Plus เป็นยุทธวิธีการอ่านเพื่อความเข้าใจ เป็นการสอนที่สนับสนุนให้ผู้เรียนนำเอาประสบการณ์เดิมมาช่วยในการตีความเนื้อเรื่องที่อ่าน ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการตั้งคำถาม ทำให้ผู้เรียนมีจุดประสงค์ในการอ่าน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อนในกลุ่ม
สุวิทย์ มูลคำ และอรทัย มูลคำ (2545: 88) กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWL Plus เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนมีทักษะกระบวนการอ่าน ซึ่งสอดคล้องกับทักษะการคิดอย่างรู้ตัวว่าตนคิดอะไร มีวิธีคิดอย่างไร สามารถตรวจสอบความคิดของตนเองได้ และสามารถปรับเปลี่ยนกลวิธีการคิดของตนได้ โดยผู้เรียนจะได้รับการฝึกให้ตระหนักในกระบวนการทำความเข้าใจตนเอง มีการวางแผน ตั้งจุดมุ่งหมาย ตรวจสอบความเข้าใจของตน มีการจัดระบบข้อมูลเพื่อดึงมาใช้ภายหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ฆนัท ธาตุทอง (2551: 234) ได้ให้ความหมายของ การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWL Plus ไว้ว่า เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการอ่าน โดยกระบวนการทำความเข้าใจตนเอง มีการวางแผน ตั้งจุดมุ่งหมาย ตรวจสอบความเข้าใจของตนเอง และมีการจัดระบบข้อมูล
สรุปได้ว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWL Plus หมายถึง การจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะกระบวนการอ่าน ทักษะการคิดอย่างรู้ตัว การนำประสบการณ์เดิมของผู้เรียนมาช่วยวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนรู้แบบ KWL Plus
1)เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการอ่านอย่างกระตือรือร้น เป็นการอ่านที่ฝึกการถามตนเองและการใช้ความคิด และคิดในเรื่องที่อ่านเป็นสำคัญ
2)สามารถพัฒนาสมรรถภาพในการกำหนดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในการอ่าน สรุปสาระสำคัญจากเรื่องที่อ่าน จัดการกับสาระความรู้ขึ้นใหม่ตามความเข้าใจของตนเอง โดยการใช้แผนผังมโนทัศน์หรือแผนผังความคิด และเขียนสรุปเรื่องที่อ่านจากแผนผังนั้น
3)ส่งเสริมและพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้กับผู้เรียนได้
4) ฝึกการระดมสมองโดยมีกรอบในการร่วมกันคิด
ขั้นตอนของการจัดการเรียนรู้แบบ KWL Plus
ขั้น K (What do I know)
ขั้นตอนนี้ก่อนที่นักเรียนจะอ่านเรื่อง ครูอธิบายความคิดรวบยอดของเรื่องและกำหนดคำถามโดยครูกระตุ้นหรือถามให้นักเรียนได้ระดมสมอง (Brainstorms) เกี่ยวกับสิ่งที่นักเรียนรู้แล้วและนำข้อมูลที่ได้มาจำแนก แล้วเขียนคำตอบของนักเรียนในแผนภูมิรูปภาพช่อง K (What do I know) หลังจากนั้นนักเรียนและครูร่วมกันจัดประเภทความรู้ที่คาดการณ์ว่าอาจเกิดขึ้นในเรื่องที่จะอ่าน
ขั้น W (Want to learn)
ในขั้นตอนนี้นักเรียนค้นหาความจริงจากคำถามในสิ่งที่สนใจอยากรู้ หรือคำถามที่ยังไม่มีคำตอบเกี่ยวกับความคิดรวบยอดของเรื่อง พร้อมทั้งให้นักเรียนเขียนรายการคำถามที่ตั้งไว้ ในระหว่างอ่านนักเรียน ขั้น ขั้น L1 (What did I learn)
ในขั้นตอนนี้นักเรียนบันทึกความรู้ที่ได้ระหว่างการอ่านและหลังการอ่าน ลงในช่อง L (What did I learn) พร้อมทั้งตรวจสอบคำถามที่ยังไม่ได้ตอบ
ขั้น L2 (Mapping)
นักเรียนนำข้อมูลที่ได้จัดประเภทไว้ในขั้นตอน K(What do I know) เขียนชื่อเรื่องไว้ในตำแหน่งตรงกลางและเขียนองค์ประกอบหลักของแต่ละหัวข้อ พร้อมทั้งเขียนอธิบายเพิ่มเติมในแต่ละประเด็น
ขั้น L3 (Summarizing)
ขั้นตอนนี้นักเรียนช่วยกันสรุปและเขียนสรุปความคิดรวบยอดจากแผนภูมิความคิดซึ่งการเขียนในขั้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อครูและนักเรียนในการประเมินความเข้าใจของนักเรียน
ข้อดีการสอนด้วย KWL Plus
1.การจัดการเรียนการสอนด้วย KWL Plus เป็นการสอนที่เน้นทักษะกระบวนการอ่าน โดยนำความรู้เดิมมาเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่ ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ครูผู้สอนจึงควรนำวิธีการสอนดังกล่าวไปใช้ในการจัดการเรียนสอน เพื่อสลับปรับเปลี่ยนกับการสอนแบบเดิมๆ และสามารถเปลี่ยนบรรยากาศในการเรียนรู้ได้
2.การจัดการเรียนรู้ด้วย KWL Plus ที่เน้นการทำงานเป็นกลุ่ม ทำให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมอย่างทั่วถึง ได้ฝึกความคิดอย่างอิสระ ส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มที่ประกอบไปด้วยนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง กลาง และต่ำ ได้ช่วยเหลือกัน และ ทำหน้าที่แทนครูผู้สอน อันเป็นการทบทวนความรู้เดิมของตัวเอง การฝึกฝนซ้ำๆ ในแต่ละขั้นตอนช่วยให้นักเรียนมีความมั่นใจในการแสดงพฤติกรรม ทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีความหมาย และมีความสุขกับการเรียน เพราะผู้เรียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ที่ได้จากการอภิปรายเพื่อระดมความคิดนำเสนอผลงานให้เพื่อนๆ ในห้องเรียน ทำให้ผู้เรียนได้แสดงออกตามความสามารถ ได้พัฒนาทักษะทางสมอง
ข้อด้อยการสอนด้วย KWL Plus
1.ครูผู้สอนจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการเตรียมตัว เนื่องจากจะต้องทำการทดสอบผู้เรียนก่อนว่ามีความรู้ ความเข้าใจ หรือมีประสบการณ์ในเรื่องที่จะเรียนมากน้อยเพียงใด หากผู้เรียนไม่มีความรู้ ความเข้าใจ หรือมีประสบการณ์ในเรื่องที่จะเรียนเลย ครูผู้สอนเองก็จำเป็นทำการสอนให้ผู้เรียนได้เข้าใจเนื้อหาโดยคร่าวๆ ก่อน
2.การจัดการเรียนรู้ด้วย KWL Plus ที่เน้นกระบวนการทำงานเป็นกลุ่ม ในห้องเรียนจะต้องมีนักเรียนอย่างน้อย 20 คน จึงจะสามารถทำให้การจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีนี้มีประสิทธิภาพ
3.KWDL
การสอนแบบเทคนิค KWDLได้พัฒนาขึ้นโดย Ogle (1989) เพื่อใช้สอนและฝึกทักษะทางการอ่าน และต่อมาได้พัฒนาให้สมบูรณ์ขึ้น โดย Carr และ Ogle ในปีถัดมา (1987) โดยยังคงสาระเดิมไว้ แต่เพิ่มการเขียนผังสัมพันธ์ทางความหมาย (Semantic Mapping) สรุปเรื่องที่อ่าน และมีการนำเสนอเรื่องจากผังอันเป็นการพัฒนาทักษะการเขียนและพูด นอกเหนือไปจากทักษะการฟัง และการอ่าน โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการสอนทักษะภาษา แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนวิชาอื่นๆที่มีการอ่านเพื่อทาความเข้าใจ เช่น วิชาสังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น เพราะว่าผู้เรียนจะได้รับการฝึกให้ตระหนักในกระบวนการการทาความเข้าใจตนเอง การวางแผนการ ตั้งจุดมุ่งหมาย ตรวจสอบความเข้าใจในตนเอง การจัดระบบข้อมูล เพื่อดึงมาใช้ภายหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีประโยชน์ในการฝึกทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ เขียนสรุป และนำเสนอ
ขั้นตอนการเรียนการสอน
ขั้นที่ 1 K (What we know) นักเรียนรู้อะไรบ้างในเรื่องที่จะเรียนหรือสิ่งที่โจทย์บอกให้ทราบมีอะไรบ้าง
ขั้นที่ 2 W (What we want to know) นักเรียนหาสิ่งที่โจทย์ต้องการทราบหรือสิ่งที่นักเรียนต้องการรู้
ขั้นที่ 3 D(What we do to find out) นักเรียนจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อหาคำตอบตามที่โจทย์ต้องการ หรือสิ่งที่ตนเองต้องการรู้
ขั้นที่ 4 L (What we learned) นักเรียนสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้
ต่อมา ซอและคณะ อาจารย์มหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี้ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำเทคนิค K-W-D-L มาใช้สอนในวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งนำรูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือกัน (Cooperative Learning) มาผสมผสานในกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการนำมาประยุกต์ใช้ในการสอนแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์
ดังนั้นการจัดการเรียนรู้ที่ใช้เทคนิค KWDL จะช่วยทำให้ผู้เรียนมีระดับขึ้นตอนการคิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยเป็นแรงเสริมที่ทำให้ผู้เรียนมีการถ่ายทอดแนวความคิดได้อย่างเป็นระบบ
ข้อดี
การสอนด้วยเทคนิคKWDL ช่วยให้นักเรียนคิดแก้โจทย์ปัญหาระคนอย่างมีแบบแผน และ เป็นฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์โจทย์เป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การคิดในการหาคำตอบให้กับโจทย์ที่เปรียบเสมือนการขึ้นบันไดที่ต้องเริ่มจากขั้นที่ 1 ก่อน ขึ้นไปสู่บันไดขั้นต่อไป ซึ่งจะข้ามขั้นใดขั้นหนึ่งไปไม่ได้ และเมื่อเรียนเสร็จแล้ว ผลที่เกิดขึ้นคือ ก่อให้เกิดความเข้าใจคงทนเกี่ยวกับการแก้โจทย์ปัญหาระคนที่ติดตัวนักเรียนไปตลอดชีวิต
ข้อด้อย
-เทคนิคการสอนแบบ KWDL ไม่สามารถนำไปประยุกต์สอนได้อย่างหลากหลาย คือเป็นเทคนิคที่เหมาะกับวิชาคณิตศาสตร์เท่านั้น
-การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ KWDL เป็นการใช้กระบวนการกลุ่มในการดำเนินกิจกรรม ครูผู้สอนควรเสริมแรงให้กับนักเรียน โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น การบอกคะแนนของแต่ละกลุ่มให้รางวัลหรือกล่าวชมเชยกับนักเรียนที่สามารถทำคะแนนได้ดี เป็นต้น หากครูผู้สอนไม่มีการเสริมแรงก็จะทำให้นักเรียนไม่มีความกระตือรือร้นในการเรียน
4.KWLH
เทคนิค KWLH หมายถึง การใช้กระบวนการคิดเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านโดยเน้นการใช้ความรู้เดิมของผู้อ่านในการตีความ ทำความเข้าใจเรื่องที่อ่าน และเพื่อความเข้าใจตรงจุดประสงค์ที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อให้ผู้อ่านทราบ มีการวางแผน ตั้งจุดมุ่งหมาย ตรวจสอบความเข้าใจของตนเอง ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมก่อนอ่าน กิจกรรมระหว่างอ่าน และกิจกรรมหลังอ่าน
กระบวนการเรียนการสอน 4 ขั้นตอน ดังนี้
1.ขั้น K
K หมายถึง "What You Know"เป็นการตรวจสอบหัวข้อเรื่องว่ามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นมากน้อยเพียงใด
เป็นขั้นตอนที่นักเรียนตรวจสอบหัวข้อเรื่องว่ามีความรู้เกี่ยวกับหัวข้อเรื่องมากน้อยเพียงใด เป็นการนำความรู้เดิมมาใช้เพราะการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้พื้นฐานและประสบการณ์ของผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญ การเตรียมการเรียนรู้เนื้อหาใหม่
2.ขั้น W
W หมายถึง "What You Want to Know" เป็นการถามตนเองว่าต้องการเรียนรู้อะไรในเนื้อเรื่องที่จะอ่านบ้าง เป็นขั้นตอนที่นักเรียนจะต้องถามตนเองว่าต้องการรู้อะไรจากบทอ่านบ้างช่วยให้นักเรียนกำหนดวัตถุประสงค์ในการอ่าน และสร้างแรงจูงใจในการอ่านด้วย
3.ขั้น L
L หมายถึง "What YouLearned" เป็นขั้นตอนการสำรวจว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรบ้างจากบทอ่าน เป็นขั้นตอนที่นักเรียนสำรวจว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรบ้างจากบทอ่าน ได้รับความรู้ใหม่หรือสิ่งที่นักเรียนต้องการรู้ เป็นการหาคำตอบสำหรับคำถามที่นักเรียนตั้งไว้ในขั้นของ "W"เป็นการฝึกให้นักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ และจัดระบบความรู้ ความคิด ฝึกสรุปประเด็นสำคัญ ซึ่งส่งผลให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในเนื้อหาที่อ่านอย่างถูกต้อง
4.ขั้น H
H หมายถึง "How You Can Learn More" เป็นการถามตนเองว่าต้องการจะเรียนรู้เรื่องนี้เพิ่มเติมอีกได้อย่างไร เป็นขั้นตอนที่นักเรียนตรวจสอบหรือค้นหาว่านักเรียนสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้อย่างไรเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องที่อ่าน เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้จักค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ และเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการขยายความรู้ความคิดให้กว้างและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
ข้อดี
1. การทำกิจกรรมตามกระบวนการ KWLH ส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักคิด รู้จักการเรียนรู้ด้วยตนเอง และสามารถควบคุมการอ่านของตนเองได้ เพราะนักเรียนสามารถใช้ทักษะการตั้งคำถาม การคาดคะเน และการใช้ความรู้เดิมเพื่อช่วยพัฒนาความสามารถในการอ่านของนักเรียนให้ดีขึ้น การนำความรู้ใหม่มาผสมผสานเข้ากับความรู้เดิม ซึ่งสอดคล้องกับการฝึกทักษะการคิดอย่างรู้ตัวอย่างที่รู้จักกันในชื่ออภิปัญญา (Metacognition) ซึ่งนักเรียนจะได้รับการฝึกให้ตระหนักในกระบวนการทำความเข้าใจตนเอง มีการวางแผน ตั้งจุดมุ่งหมายตรวจสอบความเข้าใจของตน มีการจัดระบบข้อมูลเพื่อการดึงมาใช้ภายหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. นักเรียนได้ทำกิจกรรมการเรียนแบบคู่คิด ซึ่งเป็นกลวิธีการเรียนในลักษณะการอภิปราย 2 กลุ่มย่อย (2 คน )
ข้อด้อย
1. ครูผู้สอนและผู้ที่เกี่ยวข้องทางการจัดการศึกษาไม่สนับสนุนการฝึกกลวิธีการเรียนเทคนิค KWLHเท่าที่ควร
2.ครูหรือนักจัดการศึกษาไม่ได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ต้องการเน้นการจำเนื้อหาโดยใช้เทคนิค KWLH ร่วมกับกิจกรรมการเรียนแบบคู่คิด ที่จะช่วยให้นักเรียนมีความคงทนในการเรียนรู้
6.เทคนิคการสอนการคิดสร้างสรรค์โดยใช้ภาพเเบบ PWIM (Picture Word Inductive Model)
ลักษณะสำคัญ คือ ใช้รูปภาพที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เเละวัยของผู้เรียนเป็นสื่อที่นำไปสู่ การรู้คำศัพท์ วลี ประโยค ข้อความ จนถึงการอ่านเเละการเขียนที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยมีการฝึกซ้ำๆ เป็นปริมาณมากๆ เเละสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดรวบยอด เเละหลักการด้วยตนเองด้วยวิธีคิดแบบอุปยันเเละที่สำคัญเป็นการเรียนรู้ที่เริ่มจากตัวผู้เรียน
วิธีการดำเนินการ
1.เริ่มต้นด้วยการใช้รูปภาพที่ประกอบด้วยวัตถุ สิ่งของ ฉาก เหตุการณ์ สถานนการณืที่นักเรียนคุ้นเคย ให้นักเรียนสังเกต ช่วยกันระบุคำต่างๆ เหตุการณ์ การปฏิบัติที่ปรากฏในรูปภาพ
2.ครูโยงภาพกับคำศัพท์หรือคำที่นักเรียนเสนอ นักเรียนพูดออกเสียงเเละสะกดคำที่ได้จากภาพ โดยครูคอยเเนะนำแก้ไขให้ออกเสียงให้ถูกต้อง
3.นักเรียนช่วยกันจัดกลุ่มคำ หรือจัดประเภทของคำหรือคำศัพท์ี่ระบุจากภาพ
4.นักเรียนฝึกเขียนวลี เเต่งประโยคจากคำศัพท์ต่างๆ
5.นักเรียนฝึกเขียนข้อความ ย่อหน้า เเละเขียนเรื่องจากภาพ ใช้การฝึกอย่างน้อย 20 ครั้ง/เรื่อง
ตัวอย่าง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น